การบริหารจัดการความเสี่ยง
บริษัทฯ ตระหนักดีว่าการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน อยู่ในสภาวะความผันผวนและความไม่แน่นอนจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับประเด็น ESG (ESG-Related Risk) เป็นต้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร ทำให้ลดโอกาสเกิดของความเสี่ยงและลดผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และอาจเพิ่มโอกาสทางธุรกิจนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท คณะกรรมการบริษัทจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Risk Management Committee) ขึ้น ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ
โครงสร้างการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร จะกลั่นกรองนโยบายและแนวทางการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยง ติดตามผลการบริหารจัดการตามแผนการบรรเทาความเสี่ยงของทุกหน่วยงาน โดยส่วนงานบริหารความเสี่ยงรายงานผลการสอบทานการบริหารความเสี่ยงแก่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อให้มั่นใจว่าความเสี่ยงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) บริษัทฯ สามารถลดโอกาสและผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (Risk Appetite)
วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง
ผู้บริหารและพนักงานในทุกระดับชั้น เป็นผู้รับผิดชอบในการนำกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยงไปปฏิบัติ และตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีในการปฏิบัติงานของหน่วยงานตนและองค์กร จัดให้มีมาตรการหรือการควบคุมที่เพียงพอในการลดระดับความเสี่ยง มีการใช้ดัชนีชี้วัดความเสี่ยง (Key Risk Indicators, KRI) ช่วยในการติดตามและบริหารความเสี่ยง โดยมีการทบทวนและปรับปรุงสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกลยุทธ์ขององค์กร นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นหลักสูตรหนึ่งในการอบรมพนักงานใหม่ และ มีการเสริมหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานเชิงปฏิบัติการด้านความเสี่ยงเพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดให้มีการให้ความรู้ด้านความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ด้วย
ปัจจัยความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม +ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
แนวทางบริหารความเสี่ยง
- การดำเนินโครงการการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ (Fuel Efficiency) โดยบริษัทฯ ได้ศึกษาแนวทางต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการ ให้การปฏิบัติการบินแต่ละเที่ยวบินใช้เชื้อเพลิงอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่าง ปฏิบัติการบินให้ได้มากที่สุด เช่น การวางแผนและปฏิบัติการบินด้วยเทคโนโลยีการเดินอากาศ สมัยใหม่ การทำความสะอาดเครื่องยนต์ตามวงรอบ ตลอดจนการนำข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติการบินมา วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติการบิน ให้สามารถลดปริมาณการปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งได้ศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีด้าน AI/ Machine Learning มาช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีความแม่นยำมากขึ้น ภายใต้ข้อกำหนดและข้อบังคับของการ ปฏิบัติการบินที่มีความปลอดภัยสูงสุด
- การศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อม สำหรับการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อการบินที่ยั่งยืน โดยคาดว่าในประเทศไทยจะเริ่มใช้เชื้อเพลิงทางเลือกเพื่อการบินที่ยั่งยืนในสัดส่วน 1% ภายในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามมาตรการและนโยบายความ ร่วมมือด้านความยั่งยืนในระดับสากลต่อไป
ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
แนวทางบริหารความเสี่ยง
การทำความเข้าใจความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบ การติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน เพื่อวางแผนเที่ยวบินและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงการติดตามนโยบายจากภาครัฐด้านการท่องเที่ยว
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
แนวทางบริหารความเสี่ยง
การทำความเข้าใจ และพิจารณาการปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้เหมาะสมกับบริษัทฯ และการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ
การเสริมสร้างวัฒนธรรมด้านการบริหารความเสี่ยง
การอบรมหรือเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงให้แก่บุคลากร
- ให้ความรู้กับพนักงานใหม่ในหลักสูตรปฐมนิเทศ หัวข้อ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง
- จัดอบรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ ผ่านระบบอินทราเน็ตในบริษัท เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจและตระหนักถึงความเสี่ยงและการบริหารจัดการ เช่น ความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางการบิน
การส่งเสริมให้พนักงานมีความตระหนักถึงการจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
- กำหนดให้ทุกหน่วยงานทบทวนการประเมินความเสี่ยงระดับฝ่ายและระดับองค์กร ร่วมกับหน่วยงานเจ้าของความเสี่ยง เพื่อระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก พร้อมหาแนวทางบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงการจัดทำเอกสารประเมินความเสี่ยง RMD: Risk Management by Department และ RMC: Corporate Risk Management และติดตามมาตรการการจัดการความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูง ให้ลดลงและอยู่ในระดับที่เหมาะสม
- จัดให้มีการซ้อมปฏิบัติงาน เพื่อให้พนักงานเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ทั้งด้านอาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อมในการทำงาน และนิรภัยการบิน