ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน
นอกเหนือจากธุรกิจสายการบินแล้ว บริษัทฯ ยังประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ได้แก่ การให้บริการลูกค้าภาคพื้น และการให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการครัวการบิน และ การให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของบริษัทฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด
สัดส่วน 98.88%
BFS Ground ให้บริการลูกค้าภาคพื้น และให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นแก่เที่ยวบินภายในและระหว่าง ประเทศแบบประจําและเที่ยวบินเช่าเหมาลํา ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยในการดําเนินกิจการ BFS Ground ได้ว่าจ้างให้ Worldwide Flight Services Holding S.A. “(WFS)” ให้บริการสนับสนุนการดําเนินกิจการตามสัญญาสนับสนุนการบริหารการให้บริการกิจการภาคพื้น โดย WFS จะให้บริการเกี่ยวกับการควบคุมและประเมินผลคุณภาพการดําเนินงานบริการ การตลาด และสิ่งอํานวยความสะดวกของ BFS Ground การพัฒนาการควบคุมและวิธีการดําเนินงานที่ดีที่สุดเพื่อลดต้นทุนการดําเนินงาน การบริหารจัดการให้ BFS Ground ดําเนินการตามสัญญาต่างๆ โดยรวมไปถึงสัญญาโครงการอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการซ่อมบํารุง และการให้ความช่วยเหลือในการจัดหาใบรับรองในการประกอบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
BFS Ground ได้รับสัมปทานจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) (ทอท.) ตามสัญญาโครงการอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการซ่อมบํารุง ซึ่งอนุญาตให้ BFS Ground ดําเนินงานและให้บริการตามโครงการอุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการซ่อมบํารุง โดยสัญญานี้มีอายุ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549
ทั้งนี้ BFS Ground เป็นผู้ให้บริการลูกค้าภาคพื้น และการให้บริการในลานจอดเครื่องบินและอุปกรณ์ภาคพื้นหนึ่งในสองราย ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยผู้ประกอบการอีกราย คือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)
1. การให้บริการลูกค้าภาคพื้น
BFS Ground ให้บริการลูกค้าภาคพื้นแก่ผู้โดยสารสําหรับเที่ยวบินแบบประจําของสายการบินอื่น เที่ยวบินแบบเช่าเหมาลํา และเครื่องบินส่วนตัว ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งการให้บริการเหล่านี้ประกอบไปด้วย การบริการเช็คอิน การบริการออกบัตรโดยสาร การบริการติดตามกระเป๋าและสัมภาระ เป็นต้น
BFS Ground ให้บริการผู้โดยสารในเที่ยวบินต่างๆ มากกว่า 63 สายการบิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยทั่วไปแล้ว สัญญาการให้บริการลูกค้าภาคพื้น จะมีระยะเวลา 2 ถึง 3 ปี และกําหนดค่าบริการเป็นสกุลเงินบาท
2. การให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น
BFS Ground ให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นแก่สายการบินต่างๆ สําหรับเที่ยวบินแบบประจํา เที่ยวบินเช่าเหมาลํา และเครื่องบินส่วนตัว ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งการให้บริการเหล่านี้ ประกอบด้วย บริการรับส่งผู้โดยสาร ลูกเรือ และสัมภาระ การขนถ่ายและลําเลียงสินค้า เข้าออกจากเครื่องบิน บริการรถลากจูงเครื่องบิน รถบันไดบริการผู้โดยสารขึ้นลงเครื่องบิน บริการทําความสะอาดภายในเครื่องบิน บริการเครื่องทําความเย็น (ACU) และเครื่องบริการจ่ายกระแสไฟฟ้าภายในอากาศยานขณะจอด (GPU) บริการรถบรรทุกน้ำดื่มน้ำใช้ บริการอุปกรณ์ซ่อมบํารุงภาคพื้น และการให้บริการข้อมูลเพื่อใช้ในการดําเนินการการบิน (Flight Operation) เป็นต้น
BFS Ground ให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นแก่สายการบินต่างๆ มากกว่า 79 สายการบิน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยทั่วไปแล้ว สัญญาการให้บริการในลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นจะมีระยะเวลา 2 ถึง 3 ปี และกําหนดค่าบริการเป็นสกุลเงินบาท
BFS Ground เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน การตรวจสอบความปลอดภัยการปฏิบัติการภาคพื้น Safety Audit for Ground Operations (ISAGO) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ International Air Transport Association (IATA), ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย Occupational Health and Safety Management Systems-ISO 45001:2018 และ มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ Quality Management System-ISO 9001:2015
บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด
สัดส่วน 90.0%
BAC ผลิตอาหารเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารในเที่ยวบินของบริษัท ฯ และผู้โดยสารของสายการบินอื่นๆ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้รับสัมปทานจาก ทอท. ตามสัญญาโครงการครัวการบิน ซึ่งอนุญาตให้ BAC ดําเนินงานให้บริการตามสัญญาโครงการครัวการบิน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549
โรงครัวของ BAC ตั้งอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่สําหรับการเตรียมอาหารฮาลาล (Halal meals) 10,000 ตารางเมตร เตรียมอาหารทั่วไป 3,000 ตารางเมตร และอีก 400 ตารางเมตรสําหรับการเตรียมอาหารโคเชอร์ (Kosher meals) BAC สามารถผลิตอาหารสําหรับเที่ยวบินของบริษัท ฯ และสายการบินอื่นรวมทั้ง เที่ยวบินเช่าเหมาลํา โดยมีรายละเอียดดังนี้
อาหารทุกที่ผลิตโดยผ่านมาตรฐานสากล ได้แก่ ระบบวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice (GMP)) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติ (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) อีกทั้งการผลิตอาหารฮาลาล (Halal meals) ได้รับการรับรอง จากสํานักคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และการผลิตอาหารโคเชอร์ (Kosher meals) ได้รับการรับรองจากบริษัท ไทยคาชรุธเซอร์วิสเซส จํากัด
นอกจากบริษัทฯ แล้ว BAC มีสายการบินที่เป็นลูกค้าอีก 31 ราย โดยสัญญาของธุรกิจครัวการบินโดยทั่วไปจะมีระยะเวลา 1 ถึง 3 ปี และจะกําหนดราคาขายเป็นสกุลเงินบาท นอกจากนี้ BAC ยังให้บริการอาหารสําหรับห้องพักรับรองผู้โดยสารชั้นธุรกิจและชั้นประหยัดของบริษัทฯ และห้องพักรับรองผู้โดยสารชั้นธุรกิจของสายการบิน ณ สนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ BAC เป็นผู้ให้บริการครัวการบินหนึ่งในสามราย ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยผู้ประกอบการอีกสองราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และบริษัทแอลเอสจี สกายเชฟส์ จํากัด
ในปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจการบินยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ภายหลังจากการทยอยปรับลดมาตรการกักตัวของภาครัฐตั้งแต่กรกฎาคม จนกระทั่งปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจการบินก็เริ่มดีขึ้นเป็นลําดับ บริษัทฯ ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตอาหารให้กับสายการบินก็เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากสถิติจํานวนอาหารที่ผลิตได้ในปี 2565 ข้างต้น และคาดการณ์ว่าในปี 2566 ภาพรวมธุรกิจการบินจะกลับมาดีขึ้นร้อยละ 70-80 ของปี 2562 ปีก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด
สัดส่วน 49.0%
BFS Cargo ให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ในการดําเนินกิจการ BFS Cargo ได้ว่าจ้างให้ WFS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการภาคพื้นและคลังสินค้าแก่สายการบินทั่วโลกเข้ามาบริหารจัดการตามสัญญาสนับสนุนการบริหารคลังสินค้า โดย WFS ดําเนินการด้านการควบคุมและประเมินผลคุณภาพการดำเนินงานบริการ บริหารจัดการด้านการตลาด พัฒนาการควบคุมวิธีดําเนินงานที่ดีที่สุดเพื่อลดต้นทุนการดําเนินงาน บริหารจัดการให้ BFS Cargo ปฏิบัติตามสัญญาต่างๆ โดยรวมไปถึงสัญญาโครงการคลังสินค้า และการให้ความช่วยเหลือแนะนําการประกอบกิจการคลังสินค้าตามมาตรฐานสากลและได้รับใบรับรองในการประกอบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
BFS Cargo ได้รับสัมปทานจาก ทอท. ตามสัญญาโครงการคลังสินค้า โดยสัญญาโครงการคลังสินค้า นี้มีอายุ 20 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 28 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยอนุญาตให้ BFS Cargo เข้าดําเนินงานและให้บริการตามสัญญาโครงการคลังสินค้า สําหรับสินค้าที่มีการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศในสนามบินสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ BFS Cargo มีอาคารคลังสินค้าที่สามารถเก็บรักษาและดูแลสินค้าทั่วไป สินค้าที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงสินค้าสดและผลไม้ สิ่งมีชีวิต และสินค้ามีมูลค่าสูง ทั้งนี้ BFS Cargo ได้ให้ความสําคัญในเรื่องความปลอดภัยในอาคารคลังสินค้า โดยได้ทําการติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดจํานวน 165 เครื่องครอบคลุมทั้งอาคารคลังสินค้า โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการเก็บรักษาสินค้าที่มีมูลค่าสูงจะมีการติดตั้งกล้องประจําพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเอ็กซเรย์เพื่อที่จะตรวจสอบวัตถุระเบิด และมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยในด้านการเดินอากาศ
BFS Cargo ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย (Security Standard) จาก Transported Asset Protection Association (TAPA) มาตรฐานด้านคุณภาพ ISO 9001:2015 เป็นผู้ให้บริการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการตรวจสอบด้านความปลอดภัยจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ International Air Transport Association (IATA) Safety Audit for Ground Operations (ISAGO) และมาตรฐานระบบการบริหารทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHSAS 18001:2007) อีกทั้งยังเป็นตัวแทนควบคุม 3 (Regulated Agent 3) คือ ผู้ให้บริการด้านสินค้าที่อยู่ในประเทศที่ 3 และได้รับการตรวจสอบและอนุมัติตามมาตรฐานการบินของกลุ่มประเทศยุโรป (EU) คลังสินค้าของ BFS Cargo ตั้งอยู่ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ทั้งหมด 55,370 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สําหรับคลังสินค้า 39,744 ตารางเมตร และ พื้นที่ส่วนดําเนินงานและสํานักงาน 15,626 ตร.ม. ในส่วนคลังสินค้ายังประกอบด้วย ห้องเย็น 2,500 ตารางเมตร พื้นที่เก็บรักษาสินค้าที่ต้องการความปลอดภัยสูงมีการควบคุมการเข้าออกเป็นพิเศษสําหรับสินค้ามีค่า พื้นที่ระบายอากาศสําหรับสินค้ามีชีวิต และมีพื้นที่สําหรับเก็บสินค้าอันตราย ทั้งนี้ อาคารคลังสินค้าของ BFS Cargo สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 523,000 ตันต่อปี
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 BFS Cargo มีจํานวนลูกค้ามากกว่า 78 ราย สัญญาการให้บริการคลังสินค้าจะมีระยะเวลา 2 ถึง 3 ปี และกําหนดค่าบริการเป็นสกุลเงินบาท
ทั้งนี้ BFS Cargo เป็นผู้ให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศหนึ่งในสองราย ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยผู้ให้บริการอีกราย คือ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)