เป็นสนามบินสาธารณะในประเทศไทยที่เอกชนเป็นเจ้าของ

สนามบินสมุยได้เปิดดำเนินการในปี 2532 และต่อมาในปี 2548 บริษัทได้ดำเนินการขยายโครงการสนามบินสมุย เพื่อให้มีขีดความสามารถที่จะรองรับการบริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้น สนามบินสมุยเป็นสนามบินสาธารณะในประเทศไทยที่เอกชนเป็นเจ้าของโดยดำ เนินกิจการสนามบินสมุยภายใต้ใบอนุญาตจัดตั้งสนามบินสมุย และได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (Civil Aviation Authority of Thailand: CAAT) ซึ่งสามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศบนพื้นที่ประมาณ 533 ไร่ ประกอบด้วยทางวิ่ง 1 ทางวิ่ง ซึ่งมีระยะทาง 2,100 เมตร ทางขับจำนวน 6 ทางขับลานจอดอากาศยาน อาคารผู้โดยสาร 7 อาคาร อาคารตรวจรับบัตรโดยสาร ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ นอกจากนั้นสนามบินยังเพิ่มความสะดวกในการให้บริการผู้โดยสารในการตรวจรับบัตรโดยสาร โดยมีตู้ตรวจรับบัตรโดยสารอัตโนมัติิให้บริการด้วยตนเอง ตั้งอยู่บริเวณอาคารผู้โดยสารขาออก


รายได้หลักของสนามบินสมุยมาจากค่าบริการผู้โดยสารขาออกที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารขาออก ค่าบริการในการลงจอดอากาศยานค่าบริการที่จอดอากาศยาน และค่าบริการภาคพื้นดิน ที่เรียกเก็บจากสายการบินอื่นๆ ที่เข้ามาใช้บริการสนามบินสมุย รวมถึงรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ในสนามบินสมุย

ในเดือนกันยายน 2565 บริษัทได้ทำสัญญาเช่าระยะยาวกับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (“กองทรัสต์”) เพื่อให้เช่าทรัพย์สินประเภท ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและส่วนควบของทรัพย์สินบางส่วนในสนามบินสมุย เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยมีมูลค่ารวม 14,300 ล้านบาท พร้อมเข้าทำสัญญาบริการระยะยาวกับกองทรัสต์ฯเพื่อให้บริการ และ/หรือจัดหา และบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ให้บริการแก่กองทรัสต์ฯ เป็นระยะเวลาเดียวกับสัญญาให้เช่าระยะยาวข้างต้นโดยกำหนดค่าบริการเป็นรายเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญา

ภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่า ได้กำหนดให้บริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งรวมถึงดำรงไว้ซึ่งใบอนุญาต และปฏิบัติตามใบอนุญาตและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จำเป็นต่อการดำเนินการสนามบินสมุยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เป็นต้น

โดยในปี 2566 สนามบินสมุยให้บริการผู้โดยสารเข้าและผู้โดยสารขาออก กว่า 2.2 ล้านคน และมีเที่ยวบินให้บริการกว่า 25,000 เที่ยวบิน

สนามบินสุโขทัย

บริษัทได้เริ่มดำเนินการสนามบินสุโขทัยเมื่อปี 2541 สนามบินสุโขทัยตั้งอยู่ในจังหวัดสุโขทัยซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหรือเป็นระยะทาง 440 กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 600,000 คน ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2534 ทั้งนี้ บริษัทเป็นสายการบินเพียงแห่งเดียวที่มีการบินไปยังจังหวัดสุโขทัย


สนามบินสุโขทัยเปิดดำเนินการเป็นเวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีพื้นที่ทั้งหมดของสนามบินที่ได้รับอนุญาตประมาณ 1,018 ไร่ ประกอบด้วยทางวิ่ง 1 ทางขับ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3,870 ตารางเมตร และมีจำนวน 2 ลานจอดอากาศยานที่พร้อมใช้งาน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 9,975 ตารางเมตร สนามบินสุโขทัยมีอาคารผู้โดยสารจำนวน 2 อาคาร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 1,026 ตารางเมตร โดยเป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ 784 ตารางเมตร

สนามบินตราด

บริษัทได้เริ่มดำเนินกิจการสนามบินตราดเทื่อปี 2546 โดยดำเนินกิจการภายใต้ในอนุญาตจัดตั้งสนามบินตราวซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2569 สนามบินตราดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 387 กิโลเมตร และจังหวัดตราดเป็นเมืองที่อยู่ใกล้พรมแดนประเทศกัมพูชาโดยบริษัทเป็นสายการบินเพียงแห่งเดียวที่มีการบินไปยังจังหวัดตราด สนามบินมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,300 ไร่ ประกอบด้วยทางวิ่ง 1 ทางวิ่ง มีระยะทาง 1,800 เมตร


สนามบินตราดเป็นสนามบินหนึ่งในสามแห่งที่เป็นเจ้าของ โดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยเปิดให้บริการแก่ทั้งสายการบินและการบินทั่วไป โดยมี ICAO Airport Reference Code เป็น 4C ทางวิ่งเป็นทางวิ่งแบบ Asphaltic Concrete ความยาว 1,800 เมตร ความกว้าง 45 เมตร และมีพื้นที่เขตทางวิ่งตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศสนามบินตราดเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06:00 น. ถึง 19:00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ปัจจุบันสนามบินตราดมีการให้บริการตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร สนามบินตราดมีการเก็บค่าบริการลงจอดตามที่สำนักงารการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สนามบินตราดมีบริการการจราจรทางอากาศให้บริการตลอดเวลาที่เปิดทำการ