บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนสำคัญ ในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการบิน โดยได้ดำเนินโครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ในระดับนานาชาติ บริษัทฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการ Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ของ ICAO เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศ รวมถึงบริษัทฯ ได้ศึกษาการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon Emissions หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2050

การประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร

บริษัทฯ ดำเนินการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กรในปี 2566 (ขอบเขตที่ 1 และ 2) รวม 5 พื้นที่ ได้แก่

  1. ส่วนกลาง ประกอบด้วย อาคารสำนักงานใหญ่ อาคารปฏิบัติการ (สนามบินสุวรรณภูมิ) พื้นที่ปฏิบัติงานของบริษัทฯ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ และอาคารคลังสินค้าภายในประเทศ
  2. โรงซ่อมอากาศยานดอนเมือง
  3. สนามบินสมุย
  4. สนามบินสุโขทัย
  5. สนามบินตราด

โดยได้รับการทวนสอบข้อมูลจากบริษัท อีซีอีอี จำกัด (ECEE) และบริษัทฯ กำหนดขอการรับรองผลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สรุปผลดังนี้

Scope 1 (รวมปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการปฏิบัติการบิน) Scope 2 Scope 3
288,794 ตัน CO2 เทียบเท่า 4,428 ตัน CO2 เทียบเท่า 959 ตัน CO2 เทียบเท่า

ในการนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อมข้อมูล สำหรับการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กร Scope 3 เริ่มในปี พ.ศ. 2567

โครงการแยกขยะได้ประโยชน์

รายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ณ สำนักงานใหญ่ ประจำปี 2566 คิดเป็น 317.148 kgCO2e

การติดตั้งถังคัดแยกขยะ และถัง Drop Box ในห้องรับรองบูทีคเลาจ์น สนามบินสุวรรณภูมิ

เพื่อสานต่อโครงการ “แยกขยะได้ประโยชน์” บริษัทฯ ได้ตั้งถังคัดแยกขยะภายในห้องรับรองผู้โดยสาร (บูทีคเลาจ์น) ณ สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มในเดือนกันยายน 2566 เพื่อเชิญชวนผู้โดยสารมีส่วนร่วมรักษ์โลก ด้วยการคัดแยกขยะจากต้นทาง

ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทฯ มีแผนดำเนินการตั้งถังคัดแยกขยะภายในห้องรับรองผู้โดยสาร ณ สถานีอื่นเพิ่มเติม ได้แก่ สถานีตราด สุโขทัย เชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อเพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิล และมุ่งสู่เป้าหมายการลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบของบริษัทฯ ในอนาคต

ในส่วนของ ถัง Drop Box เป็นถังสำหรับรับขวดน้ำดื่มพลาสติก PET ไร้ฉลาก และขวดพลาสติกอี่น ๆ ของผู้โดยสาร ตั้งอยู่ภายในห้องรับรองผู้โดยสารบูทีคเลาจ์น โดยบริษัทฯ จะรวบรวมขวดและส่งต่อให้กับบริษัท เซอร์คูลาร์ อินดัสทรี้ จำกัด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแปลงเป็นเส้นใยพลาสติก ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก และเป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรใช้เกิดประโยชน์สูงสุด

การอัพไซคลิ่งชุดยูนิฟอร์มที่ไม่ใช้แล้วของพนักงาน

บริษัทฯ ริเริ่มไอเดียในการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการรณรงค์ให้พนักงานนำชุดยูนิฟอร์มที่มีตราสัญลักษณ์บริษัทฯ ซึ่งไม่ใช้แล้ว มาเข้าสู่กระบวนการอัพไซคลิ่ง (Upcycling) พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดของเสียตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการธุรกิจ เช่น ผ้ากันเปื้อนผืนใหม่ ที่เป็นรุ่น Limited Edition จากเส้นใยรีไซเคิล สำหรับพนักงานผู้ปฏิบัติงานภายในห้องรับรองผู้โดยสารใช้สวมใส่ ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้แคมเปญ “Love Earth, Save Earth” เพื่อตอกย้ำถึงนโยบายด้านการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความร่วมมือกับบริษัท เซอร์คูลาร์ อินดัสทรี้ จำกัด บริษัทฯ นำส่งชุดยูนิฟอร์มที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 300 กิโลกรัม เข้าสู่กระบวนการคัดแยกเฉดสีและทำเป็นผ้าผืนใหม่โดยไม่ผ่านการฟอกย้อม เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีส่วนช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเกิดจากการทำลายชุดยูนิฟอร์มด้วยวิธีแบบเดิม เปลี่ยนเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่มีคุณค่า ด้วยนวัตกรรมการผลิตที่ไม่ทำร้ายโลก

จากการอัพไซคลิ่งชุดยูนิฟอร์มจำนวน 300 กิโลกรัม คิดเป็นปริมาณที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 1,771.44 กิโลกรัม ลดการใช้น้ำ 58,348.62 ลิตร และประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ราว 10,523.37 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของสนามบิน

ฝ่ายสนามบินได้จัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อมสำหรับทั้ง 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด ซี่งประกาศใช้ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการบริหารจัดการและปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมของทั้ง 3 สนามบิน เป็นไปในรูปแบบและทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ กรอบนโยบายสิ่งแวดล้อมข้างต้น เกี่ยวข้องกับ

  • การบริหารกิจการสนามบิน ให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ระเบียบ ข้อบังคับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศและมาตรฐานสากล
  • กำกับ ดูแล ควบคุม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  • รณรงค์ ส่งเสริม สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การลดใช้พลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • เผยแพร่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ติดตามผลการดำเนินงาน และปรับปรุงให้สอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบัน รวมถึงการทบทวนนโยบายอย่างต่อเนื่อง
  • กำหนดเป้าหมาย วางแผน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ฝ่ายสนามบินได้จัดทำประกาศแต่งตั้งคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ประจำแต่ละสนามบิน โดยมีบทบาทในการกำกับ ดูแล และควบคุมการดำเนินงานเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (การบริหารจัดการน้ำ)

ความมุ่งมั่น

บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ เพื่อรองรับความต้องการและความพร้อมในการให้บริการ และอำนวยความสะดวกจากการดำเนินงานของสนามบิน รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำภายในกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพ

กลยุทธ์

  1. บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อลดความเสี่ยง
  2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิต
  3. บำบัดน้ำทิ้งให้ได้คุณภาพตามที่มาตรฐานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนด
  4. มีการนำน้ำเสียผ่านการบำบัดกลับมาประโยชน์สูงสุด เช่น การรดน้ำต้นไม้/ พื้นที่สีเขียว ภายในสนามบิน โดยไม่มีการระบายน้ำเสียออกสู่ภายนอกโครงการฯ ตามที่มาตรการ EIA กำหนด
  5. จัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถของบุคลากรที่ปฎิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ
  6. ติดตามตรวจสอบและฟื้นฟูขุดลอก พัฒนาแหล่งน้ำดิบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ และสามารถรองรับน้ำผิวดินและน้ำฝน เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปา ให้เพียงพอกับความต้องการการให้บริการของสนามบิน

แนวทางบริหารจัดการเพื่อการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

  1. การปรับปรุงระบบการผลิตน้ำประปาให้ได้ประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อสามารถให้บริการผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ และรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวและจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น
  2. กำหนดให้นำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด ตามมาตรฐานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนด กลับมาใช้เป็นน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ในเขตสนามบิน ที่ไม่ใกล้กับจุดที่ผู้โดยสารสัญจร รวมถึงปรับปรุงระบบรดน้ำเป็นแบบฝังท่อใต้ดิน เพื่อลดผลกระทบด้านอาชีวอนามัยที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการและพนักงานของสนามบิน
  3. หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดแผนดำเนินงานเพื่อลดการสูญเสียน้ำ โดยติดตั้งมิเตอร์ตามอาคารที่มีการใช้น้ำ และบันทึกปริมาณการใช้น้ำทุกเดือน เพื่อตรวจสอบแนวโน้มการใช้น้ำว่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากพบว่าตัวเลขเปลี่ยนแปลง (เพิ่มขึ้น) อย่างมีนัยสำคัญ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบหาสาเหตุและจุดรั่วซึม เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
  4. ปฏิบัติตามแผนงาน Preventive Maintenance (PM) คือ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ได้แก่การเดินตรวจเช็คสุขภัณฑ์ห้องน้ำทุกวัน ว่าพบการรั่วไหลของน้ำภายในห้องน้ำผู้โดยสารและสำนักงานหรือไม่ โดยหากพบการรั่วไหล จะแจ้งซ่อมเข้าระบบต่อไป (Corrective Maintenance)
  5. ตรวจวัดปริมาณการใช้น้ำประปาทุกเดือน ทั้งห้องน้ำอาคารผู้โดยสารและสำนักงาน หากพบการใช้น้ำที่ผิดปกติ จะตรวจสอบและแก้ไขปัญหา
  6. นำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด จากถังบำบัดน้ำเสียทั้งหมด กลับมารดน้ำต้นไม้ภายในสนามบิน เป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
  7. ดำเนินโครงการรณรงค์การประหยัดการใช้น้ำ โดยบันทึกสถิติการใช้น้ำ เพื่อเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการใช้น้ำ ตลอดจนการวางแผน และ/ หรือปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวข้อง

ผลดำเนินงาน

ตารางเปรียบเทียบปริมาณการใช้น้ำต่อผู้โดยสาร ปี 2565 และปี 2566 (สนามบินสมุย)

โครงการศึกษาการใช้พลังงานทางเลือก

ฝ่ายสนามบินมีแผนทยอยเปลี่ยนรูปแบบพลังงานที่ใช้สำหรับยานพาหนะภายในสนามบิน และอุปกรณ์บางรายการของเครื่องบิน จากน้ำมันมาเป็นไฟฟ้า โดยยังคงเน้นความปลอดภัยสูงสุดในการใช้งาน

เบื้องต้น มีการติดตั้ง EV Station Charger เพื่อให้บริการกลุ่มคนในท้องถิ่น กลุ่มรถเช่า กลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ใช้รถไฟฟ้า โดยพิจารณาดำเนินการที่สนามบินสมุยเป็นแห่งแรก

สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (สนามบินสมุย)