บางกอกแอร์เวย์สแถลงผลประกอบการปี 2561 และทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2562
บางกอกแอร์เวย์สแถลงผลประกอบการปี 2561 และทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2562

กรุงเทพฯ / 5 มีนาคม 2562 - (วันนี้) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส นำโดย นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ นายพรต เสตสุวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ส่วนการตลาด และ นายวรงค์ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขาย จัดงานแถลงข่าว “ผลประกอบการปี 2561 และทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2562 ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 27,943.6 ล้านบาท และมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางภาษีเท่ากับ 356.8 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 249.3 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาทต่อหุ้น มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 5.95 ล้านคน เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เป็นผลมาจากการเติบโตของสัดส่วนจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) ในต่างประเทศ ซึ่งมีการเติบโตร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 68.6 เปอร์เซ็นต์”

“ในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการขยายเส้นทางบินไปในกลุ่มประเทศ CLMV ตามปริมาณความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเฉพาะในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยบริษัทฯ ได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ–เวียงจันทน์ (ลาว) เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพฯ–มัณฑะเลย์ (เมียนมาร์) เป็น 11 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพฯ–เกาะฟู้โกว๊ก (เวียดนาม) เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ นอกจากนี้บริษัทฯ ได้เปิดเส้นทางบินใหม่ เชียงใหม่–ฮานอย (เวียดนาม) โดยให้บริการ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์”

“สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน อาทิ ธุรกิจครัวการบินในปี 2561 บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air catering – BAC) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 25 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้า 20 สายการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และบริษัทครัวการบินกรุงเทพภูเก็ต จำกัด มีลูกค้าจำนวน 12 ราย และบริษัทกูร์เมท์ พรีโม่ จำกัด มีจำนวนลูกค้าจำนวน 12 ราย ในส่วนของธุรกิจบริการภาคพื้น บริษัท การบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 56 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าเพิมขึ้นจำนวน 5 ราย รวมเป็น 79 สายการบิน และ บริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (BFS Cargo) มีส่วนแบ่งทางการตลาด 49 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเป็น 69 สายการบิน”

“โดยปี 2562 นี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสารเติบโตร้อยละ 3.5 อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ประมาณ 6.16 ล้านคน”

“แผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ในปี 2562 นี้ บริษัทฯ ยังคงเน้นกลยุทธ์การขยายโครงข่ายเส้นทางการบินเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร ตลอดจนบุกเบิกการเปิดเส้นทางบินใหม่ที่ยังไม่มีสายการบินอื่นให้บริการ โดยใช้กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สมุย และ เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางทางการบินให้ครอบคลุมไปยังเมืองสำคัญหรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาคเอเชีย โดยเส้นทางบินแรกที่ได้ทำการเปิดบินไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ-คัมรัน (เวียดนาม) ให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ319 และเตรียมเปิดอีก 2 เส้นทางบินเชื่อมจากจังหวัดเชียงใหม่ ออกไปยังเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 31 มีนาคม 2562 และจะปรับเป็นให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป และเส้นทาง เชียงใหม่-หลวงพระบาง (สปป. ลาว) ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการ 2 เมษายน 2562 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยอดนิยม อาทิ กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) จาก 7 เที่ยวบิน ต่อสัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 1 มีนาคม 2562 และ กระบี่-กรุงเทพฯ จาก 21 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่ม 31 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป”

“การเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทางการบินผ่านการทำข้อตกลงเที่ยวบินร่วม (Codeshare Agreement) กับสายการบินชั้นนำ ในปี 2562 บริษัทฯ มีแผนที่จะลงนามข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินเพิ่มเติมอีก 2-3 สายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยในปัจจุบัน บริษัทฯ มีข้อตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบินชั้นนำจากทั่วโลกอยู่ 27 สายการบิน โดยสายการบินล่าสุดคือฟิลิปปินส์แอร์ไลน์”

“แผนการลงทุนในปี 2562 บริษัทฯ มีแผนลงทุนในโครงการด้านอากาศยาน วงเงินรวม 1,815 ล้านบาท อาทิ การจัดซื้อเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ โดยมีแผนรับเครื่องบินในไตรมาสที่ 2 การจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินสำรองเพื่อรองรับการซ่อมบำรุง การปรับปรุงสภาพภายใน (Cabin Refurbishment) ของเครื่องบินแบบแอร์บัส ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี (2562-2564) แผนลงทุนในโครงการด้านท่าอากาศยาน อาทิ โครงการขยายและพัฒนาสนามบินสุโขทัย ซึ่งมีวงเงินรวม 958 ล้านบาท ในการสร้างโรงซ่อมบำรุงอากาศยานและพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบิน โครงการขยายและพัฒนาสนามบินตราด วงเงินรวม 334 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่สนามบินและขยายทางวิ่งของเครื่องบิน นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงการพัฒนาระบบงานด้านไอที วงเงินรวม 193 ล้านบาท อาทิ การเปลี่ยนระบบให้บริการผู้โดยสารเพื่อใช้ในการสำรองที่นั่ง (PSS) เป็นระบบอะมาดิอุส (Amadeus) การเปลี่ยนระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบิน เช่น ระบบควบคุมการบิน ระบบวางแผนการบิน ระบบบริหารจัดการลูกเรือ รวมไปถึงการพัฒนาระบบงานองค์กร (SAP-ERP) นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้มีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อาทิ การจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจสถาบันฝึกอบรมด้านการบิน ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100 เปอร์เซนต์”

“แผนการขยายธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน อาทิ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air catering – BAC) ที่จะเปิดครัวการบินเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ สาขาสนามบินเชียงใหม่ กำหนดเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ตลอดจนธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีให้บริการร้านอาหาร Brasserie 9 ซึ่งเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม ร้านอาหาร Al Saray ซึ่งเป็นร้านอาหารเลบานีสและอาหารอินเดีย และภายในปีนี้มีแผนจะเปิดให้บริการร้านเรือนนพเก้า ซึ่งเป็นอาหารไทยตำรับชาววังเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง”

“โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในปี 2562 บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการให้บริการและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Blue Heart – A love to share หมายถึง การส่งต่อความรักผ่านโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม โดยแบ่งเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อ Love Earth Save Earth – รักษ์โลกดูแลโลก อาทิ โครงการปลูกมะพร้าวเพื่อเกาะสมุย โครงการรักษ์โลก ร่วมปลูกป่าชายเลน กับบางกอกแอร์เวย์ส (จ.ตราด) โครงการสร้างฝาย (เกาะสมุยและจ.ลำปาง) โครงการบริหารจัดการขยะ โครงการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า (United for Wildlife) และโครงการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน 5 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อ Community of Love – สานพลังรัก สู่ชุมชนที่ยั่งยืน อาทิ โครงการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ โครงการปรับปรุงและซ่อมแซมชุมชน วัด และโรงเรียน เพื่อสาธารณประโยชน์ โครงการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (PG Edugether) โครงการ English Club with Bangkok Airways โครงการติดปีกเติมฝัน ปันความรู้ สู่อาชีพการบิน”

นายพรต เสตสุวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด เผยถึงแผนการตลาดปี 2562 ว่า “ในปีนี้บริษัทฯ จะเน้นการทำตลาดแบบเชิงรุกในตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขายและสร้างการรับรู้ในสินค้าและบริการของบริษัทฯ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมทางการขายและการตลาดผ่านช่องทางตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency) รวมถึงการโฆษณาและกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโลกออนไลน์ (Key Opinion Leader – KOL) ทั่วโลก ทั้งนี้ บริษัทยังให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมการขายและการตลาดแก่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ (Global Sales Agents) ทั่วโลกเช่นเดิม”

“ในปีนี้ สายการบินฯ ยังคงเน้นการทำการตลาดผ่านกิจกรรมเชิงกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว (Sports & Tourism Marketing) เพื่อสนับสนุนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ รวมไปถึงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเส้นทางบินของสายการบินฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยไฮไลท์ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเชิงกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวในปีนี้ ได้แก่ การลงนามความร่วมมือทางการตลาดกับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทีมสโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศเยอรมันนี ที่มีแฟนคลับมากเป็นอันดับต้นๆ ของทวีปยุโรป โดยความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของบางกอกแอร์เวย์สในระดับสากลแล้ว ยังช่วยให้สายการบินฯ สร้างฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวชาวยุโรป ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักของสายการบินฯ กิจกรรมบางกอกแอร์เวย์สบูทีคซีรี่ย์ (Bangkok Airways Boutique Series 2019) รายการแข่งขันวิ่งมาราธอนใน 6 เส้นทางบินของสายการบินฯ ได้แก่ ลำปาง สุโขทัย เชียงใหม่ เชียงราย สมุย และกระบี่ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจากคุณอัศนัย อนัญคีรี หรือ Stupidnoobmac ศิลปินวาดรูปชื่อดังผู้วาดการ์ตูนเบบี้บอย มาร่วมออกแบบเสื้อวิ่ง เหรียญรางวัล เพื่อสร้างสีสันและความน่าสนใจให้กับรายการวิ่ง นอกจากนี้ยังมอบสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันและเลือกเดินทางกับสายการบินฯ อาทิ ฟรีค่าสมัครวิ่ง ช่องพิเศษในการรับ bib ในวันแข่งขัน เป็นต้น ในปีนี้ สายการบินฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 35,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 40 เปอร์เซ็นต์ กิจกรรมการสนับสนุนทีมฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย ปัจจุบัน สายการบินฯ ได้ให้การสนับสนุนทีมฟุตบอลอาชีพรวมทั้งสิ้น 7 ทีม คือ เชียงรายยูไนเต็ด เชียงใหม่เอฟซี สุโขทัยเอฟซี ตราดเอฟซี ลำปางเอฟซี เชียงรายซิตี้เอฟซี และสมุยซิตี้เอฟซี ซึ่ง 4 ทีมแรกเล่นในไทยพรีเมียร์ลีก โดยการเข้าสนับสนุนทีมฟุตบอลดังกล่าวถือเป็นการสร้างแบรนด์ในกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับแบรนด์ นอกจากนี้ สายการบินฯ ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมเชิงกีฬารายการใหญ่ๆ ตลอดทั้งปีอีกด้วย อาทิ การแข่งขันจักรยานรายการ Le Tour De France ที่จังหวัดพังงา การสนับสนุนแข่งขันชกมวยรายการไทยไฟต์ (Thai Fight) เป็นต้น ซึ่งการเข้าไปร่วมสนับสนุนรายการดังกล่าวถือเป็นการสร้างการรับรู้ของแบรนด์บางกอกแอร์เวย์สในระดับสากล นอกจากนี้ สายการบินฯ ยังให้ความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) อาทิ งานตรุษจีนย้อนอดีตที่จังหวัดภูเก็ต งานอินเตอร์เนชั่นแนล บอลลูน เฟียสต้า ที่จังหวัดเชียงราย งานพระจันทร์หลากสีที่เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี งานเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น”

“ในปี 2562 สายการบินฯ จะเน้นการกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านพันธมิตรทางการค้า (Partnership Marketing) มากขึ้น อาทิ บริษัทประกันภัย บัตรเครดิต ศูนย์การค้า โดยในปีนี้มีแผนที่จะทำกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัทบัตรเครดิตในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ และมีแผนที่จะยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีน โดยมีแคมเปญต่างๆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม CLMV มากขึ้น”

สำหรับกิจกรรมทางการตลาดด้านลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้าของสายการบินฯ อาทิ บียอนด์ฟลายอิ้ง (Beyond Flying) ที่ผู้โดยสารสามารถแสดงบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) หรือบัตรสมาชิก FlyerBonus เพื่อรับสิทธิประโยชน์พิเศษจากร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์การค้า หรือพันธมิตรที่ร่วมรายการ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายการสะสมคะแนนฟลายเออร์โบนัส ซึ่งนอกจากจะมีแผนในการเพิ่มจำนวนสมาชิกแล้ว ในปลายปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ KTC ในการออกบัตรเครดิต KTC-Bangkok Airways ปีนี้จึงมีแผนร่วมกันในการทำตลาดเพื่อเพิ่มจำนวนผู้สมัครบัตรดังกล่าว นอกจากนี้ ก็มีแผนในการพัฒนาระบบแลกคะแนนและสิทธิประโยชน์ทางออนไลน์ที่ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงเสนอโปรแกรมการแลกรางวัลต่างๆ ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น”

“แผนการขยายกลุ่มลูกค้าในประเทศไทย สายการบินฯ มีแคมเปญ U Fare By Bangkok Airways บัตรโดยสารราคาพิเศษสำหรับกลุ่มนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ต่อเนื่องมา 2 ปีและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปีนี้ก็จะทำการตลาดต่อไปโดยจะเน้นการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์แคมเปญผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรามากขึ้น รวมถึงการออกบูธประชาสัมพันธ์แคมเปญในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ”

“ขณะนี้เราอยู่ในระหว่างขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระบบสำรองที่นั่งจาก Sabre ไปสู่ Amadeus ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้ ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการออนไลน์ของเรามากขึ้น ซึ่งช่วยให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายและได้รับบริการต่างๆหลากหลายมากยิ่งขึ้น” นายพรต กล่าวเสริม

นายวรงค์ อิศรเสนา ณ อยธุยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขาย เปิดเผยถึงแผนการขายปี 2562 ว่า “บางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้ายอดขายในปี 2562 เติบโตร้อยละ 3.5 โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการขายบัตรโดยสารผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อบัตรโดยสารของลูกค้าได้เปลี่ยนไป โดยในปีที่ผ่านมา สายการบินฯ ได้พัฒนาระบบเพื่อให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการขายแบบดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสทางการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ (Online Travel Agency – OTA) จากทั่วโลก อาทิ eDreams ctrips mystifly Make My Trip (MMT) เป็นต้น”

“นอกจากนี้ บริษัทฯ จะยังคงเน้นการขายในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) โดยเน้นการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่น โดยมีการออกโปรโมชั่นที่น่าสนใจ อาทิ โปรโมชั่น Go Samui และมีแผนที่จะเจาะกลุ่มตลาดนักเดินทางเพื่อธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น อาทิ แคมเปญ Fly & Meet Double Bonus ที่ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ที่มอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่นักเดินทางในกลุ่มองค์กรธุรกิจ”

“สำหรับแผนการขายภายในประเทศ บริษัทฯ เน้นเจาะกลุ่มตลาดนักเดินทางเพื่อธุรกิจ (Corporate Travel) มากขึ้น เนื่องจากมีอัตราการเดินทางที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์และบริการของบางกอกแอร์เวย์สถือว่าตอบโจทย์นักเดินทางกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังจะมีการออกโปรโมชั่นต่างๆ รวมทั้งการร่วมออกบูธจำหน่ายบัตรโดยสาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขายล่วงหน้ามากขึ้น อาทิ ไทยเที่ยวไทยเป็นต้น”

“และบริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจแบบเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) โดยปัจจุบัน สายการบินฯ มีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำในเส้นทางระหว่าง สมุย-เฉินตู และ สมุย-ฉงชิ่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการเพิ่มรายได้จากบริการเสริมต่างๆ อาทิ บริการอัพเกรดห้องรับรอง บริการอัพเกรดที่นั่ง รวมไปถึงการขายพื้นที่สื่อของสายการบินฯ อาทิ นิตยสารบนเครื่อง เป็นต้น”